เกี่ยวกับองค์กร

กรรมการบริหาร

ประวัติพระมงคลบิตร

การบูรณปฏิสังขรณ์

แผนงาน

ติดต่อสำนักงาน

attention.gif

ประวัติพระมงคลบพิตร 


 

    พระมงคลบพิตร เป็นพระพุทธรูปโบราณขนาดใหญ่ที่สุดองค์หนึ่ง
 ในประเทศไทย  ประดิษฐานอยู่ในวิหารหลวง  บริเวณพระราชวัง
 โบราณ ด้านทิศตะวันตก  ตำบลประตูชัย อำเภอพระนครศรีอยุธยา
 จังหวัดพระนครศรีอยุธยา  เป็นที่เคารพสักการะของพุทธศาสนิกชน
 ทั่วไปตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
    พุทธลักษณะ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย  ครองจีวรห่มเฉียงเปิด
  พระอังสาขวา  มีสังฆาฏิพาดเหนือพระอังสาซ้าย ยาวลงมาจด
  พระนาภี  พระพุทธรูปก่ออิฐเป็นแกน บุด้วยทองสัมฤทธิ์
  ขนาดหน้าตักกว้าง ๙ เมตร ๕๕ เซ็นติเมตร  ส่วนสูงเฉพาะ
  องค์พระไม่รวมฐานบัว ๑๒ เมตร ๔๕ เซนติเมตร ส่วนฐานบัว
  สูงจากพื้นถึงองค์พระ ๔ เมตร ๕๐ เซนติเมตร  พระเศียรวัด
  โดยรอบตรงเหนือพระกรรณ ๗ เมตร ๒๕  เซนติเมตร พระพักตร์
  กว้าง ๒ เมตร ๓๒ เซนติเมตร   บัวหงายระหว่างพระรัศมี ถึง
  พระเกตุมาลาสูง  ๔๓ เซนติเมตร   พระรัศมีเหนือบัวหงายสูง  ๑
  เมตร  ๓๐ เซนติเมตร    พระกรรณยาวข้างละ  ๑ เมตร  ๘๑
  เซนติเมตร  พระเนตรยาวข้างละ ๑ เมตร ๕ เซนติเมตร  
  พระนาสิกยาว ๑ เมตร ๒๐ เซนติเมตร  และพระโอษฐ์ยาว ๑ เมตร
 ๑๖ เซนติเมตร


 

    พระมงคลบพิตรจะสร้างในอาณาจักรใดรัชกาลใดไม่ปรากฏ หลักฐาน
 แน่นอน  นักประวัติศาสตร์และนักโบราณคดีไทย ได้ตั้งสมมุติฐานเกี่ยวกับ
 ประวัติพระมงคลบพิตรไว้ต่าง ๆ เริ่มจากข้อความในพงศาวดารเหนือ
 ที่กล่าวว่า
   "พระเจ้าสายน้ำผึ้ง จึงยกพลลงไปขุดบางเตย  จะสร้างเมืองใหม่
 พระอาจารย์ห้ามว่า น้ำเค็มนักยังไม่ถึงพุทธทำนาย สร้างไม่ได้  จึงสร้าง
 วัดพะแนงเชิงขึ้นที่แหลมบางกะจะ ตรงที่พระราชทานเพลิงศพ
 นางสร้อยดอกหมาก พระมเหสี"
   นายมานิต วัลลิโภดม ภัณฑารักษ์พิเศษ ผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณคดีของ
 กรมศิลปากร  ได้เขียนบทความเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ในหนังสือ
  เฉลิมพระราชอนุเสาวรีย์สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (พระเจ้าอู่ทอง)
  ตอนหนึ่งว่า
   "พระเจ้าสายน้ำผึ้ง ทรงสร้างพระอารามขึ้นในบริเวณเมืองอโยธยา ๒ แห่ง  คือ พ.ศ.๑๖๘๗ สร้างวัดพนัญเชิงที่แหลมบางกะจะแห่งหนึ่งวัดมงคลบพิตร
 อีกแห่งหนึ่ง อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของวัดพระศรีสรรเพชญ์ "  
    ในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า
    "เมื่อ พ.ศ.๒๑๔๖  แผ่นดินสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ได้ย้าย
 พระมงคลบพิตรจากฟากตะวันออกไปอยู่ฟากตะวันตก แต่มิได้เล่าประวัติ
 ว่าพระพุทธรูปกับวัดสร้างมาแต่ครั้งใด"

 ข้อสันนิษฐานจากนักประวัติศาสตร์ท่านหนึ่งที่เชื่อว่า พระมงคลบพิตรนั้น
 สมเด็จพระชัยราชาธิราช รัชกาลที่ ๑๐  แห่งกรุงศรีอยุธยาเป็นผู้สร้าง ทั้งนี้
 เพราะเชื่อว่าตั้งแต่รัชกาลของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๓ มีความเจริญ
 รุ่งเรืองและมีความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ อันเกิดจากการค้าขายทางทะเลกับ
 จีนและเมืองนอก กรุงศรีอยุธยาเข้าสู่ยุคทองของศิลปและวิทยาการ  ทำให้
 เกิดการสร้างวัดวาอารามขึ้น ทั้งภายในเมืองหลวงและหัวเมืองต่าง ๆ วัดที่
 สำคัญที่สุดคือวัดพระศรีสรรเพชญ์  พระมงคบพิตรอาจจะสร้างในสมัยนี้้ก็ได้
 

  

   สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงวืจารณ์ไว้ว่า พระพุทธรูป
 มงคลบพิตรนี้ ได้รับอิทธิพลจากสุโขทัย  และนายตรี อมาตยกุล ได้วิจารณ์
 ว่า       "เท่าที่ได้ตรวจพิจารณาโดยละเอียดคือ พระพุทธรูปสมัยอู่ทองเจือ
 สุโขทัยอย่างพระมงคลบพิตรนี้ นิยมสร้างกันอยู่ยุคหนึ่งในระหว่างแผ่นดิน
 สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ จนถึงสมัยแผ่นดิยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม
 พระมงคลบพิตร ก็น่าจะได้สร้างขึ้นในระหว่างนี้ แต่ไม่ปรากฏใน
 พงศาวดารสักแห่งเดียว ว่าสร้างเมื่อใด มาปรากฏเอาในหนังสือพงศาวดาร
 ฉบับพระราชหัตถเลขาเป็นครั้งแรกว่า พระมงคลบพิตรนี้เดิมอยู่ทางฝ่าย
 ตะวันออกนอกพระราชวัง พระเจ้าทรงธรรมโปรดฯ ให้ชะลอมาไว้ทางฝ่าย
 ตะวันตก ตรงที่ประดิษฐานอยู่ ณ บัดนี้  เมื่อจุลศักราช ๙๖๕ (พ.ศ.๒๑๔๖)
 เพราะฉะนั้น จึงเข้าใจว่าพระพุทธรูปองค์นี้ น่าจะสร้างขึ้นก่อนแผ่นดิน
 สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมขึ้นไป"

     หากว่าสังเกตจากพุทธลักษณะพระมงคลบพิตรแล้ว จะเห็นว่าเป็น
 พระพุทธรูปแบบสุโขทัยปนแบบอู่ทอง ซึ่งถ้าหากสันนิษฐานตามยุคสมัย
 ของศิลปะแล้วพระมงคลบพิตรน่าจะสร้างในระหว่างปี พ.ศ.๑๙๙๑-๒๑๔๕
 คือในระหว่างรัชสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒ หรือเจ้าสามพระยา
 ถึงรัชสมัยสมเด้จพระนเรศวรมหาราช

   พระมงคลบพิตร จะสร้างในสมัยใดก็ตาม ก็นับว่าเป็นพระพุทธรูปเก่าแก่
 ที่มีพุทธลักษณะงดงาม มีค่ามหาศาล  เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของ
 กรุงศรีอยุธยา และเป็นที่เคาระสักการะมานานนับร้อย ๆ ปี

  ที่มาของข้อมูล : มูลนิธิพระมงคลบพิตร.๒๕๔๔. ประวัติพระมงคลบพิตร,
                         พิมพ์ครั้งที่ ๒ ,พระนครศรีอยุธยา:โรงพิมพ์เทียนวัฒนา.

 


 

 

 
  

สำนักนายกรัฐมนตรี

ศูนย์ดำรงธรรม

จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

สำนักศิลปากรที่ 3

เทศบาลนครพระนครศรีอยุธยา

 ศูนย์ท่องเที่ยวจังหวัด อย.

สำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

ศูนย์ดำรงธรรมอยุธยา

อบจ.พระนครศรีอยุธยา

สนง.ธนารักษ์พื้นที่ อย.

เทศบาลเมืองอโยธยา

 มรภ.พระนครศรีอยุธยา

  
  

ไทยรัฐ

เดลินิวส์

มติชน

ข่าวสด

คมชัดลึก

แนวหน้า

TV 3

TV 5

TV 7

TV 9

ThaiPBS

ATV